เจ้าบ้าน

เจ้าบ้านคือใคร
"เจ้าบ้าน" คือ คนที่เป็นหัวหน้าครอบครองในบ้านหลังนั้น ซึ่งการครอบครองนี้อาจจะครอบครองในฐานะที่เป็นเจ้าของบ้าน ผู้เช่าบ้าน หรือ ฐานะอื่นก็ได้
ถ้าบ้านหลังนั้นไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าบ้านหรือคนที่เป็นเจ้าของบ้านไม่อยู่ ตาย สูญหาย หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ คนที่ดูแลบ้าน หรือที่อยู่ในบ้านขณะนั้นเป็นเจ้าบ้าน
หน้าที่ของเจ้าบ้าน
กฎหมายทะเบียนราษฎรได้กำหนดให้เจ้าบ้านมีหน้าที่ต้องแจ้งต่อนายทะเบียนในเรื่องดังต่อไปนี้ คือ :-
1. มีคนเกิดในบ้าน
2. มีคนตายในบ้าน
3. มีคนย้ายออก – ย้ายเข้าในบ้านหลังนั้น
4. มีการปลูกสร้างบ้านใหม่ หรือรื้อถอนบ้าน
หากไม่แจ้งจะถือว่ามีความผิดตามกฎหมายคนที่จะทำหน้าที่เป็นเจ้าบ้าน โดยปกติแล้วเมื่อมีการแจ้งต่อนายทะเบียน นายทะเบียนก็ควรจะตรวจสอบดูว่าคนที่แจ้งนั้นเป็นเจ้าบ้านหรือไม่ โดยจะดูจาก
1. บัตรประจำตัวของคนแจ้งพร้อมทะเบียนบ้านที่นำไปแสดงว่าคนที่ไปแจ้งมีชื่อในทะเบียนบ้าน และช่องรายการระบุว่าเป็น “ เจ้าบ้าน ” หรือไม่
2. ถ้าไม่ใช่บุคคลตามข้อ 1. ก็ควรดูว่าคนที่ไปแจ้งมีชื่อปรากฏในทะเบียนบ้านนั้นหรือไม่ ถ้ามีก็จะบันทึกปากคำไว้เป็นหลักฐานถึงสาเหตุที่ไปแจ้งแทนเจ้าบ้านกรณีที่ผู้มีชื่อในทะเบียนบ้านเป็นผู้เยาว์หรือเสมือนไร้ความสามารถ ให้ผู้ปกครองตามกฎหมายเป็นผู้ทำหน้าที่แทน
3. แต่ถ้าบ้านหลังนั้นเป็นบ้านว่างไม่มีใครมีชื่อในทะเบียนหากคนที่ครอบครองดูแลบ้านอยู่ในขณะนั้นไปแจ้ง นายทะเบียนก็จะบันทึกปากคำไว้และดำเนินการรับแจ้งให้เช่นกัน
การมอบหมาย
กรณีคนที่มีชื่อและรายการในทะเบียนบ้านระบุว่าเป็นเจ้าบ้านไม่ได้ไปแจ้งด้วยตนเอง หรือไม่ได้ให้คนที่มีชื่อในทะเบียนบ้านเดียวกับคนที่แจ้ง แต่จะมอบหมายให้บุคคลอื่นไปแจ้งแทน ก็จะต้องให้ผู้ได้รับมอบหมายนำเอกสารต่อไปนี้แสดงต่อนายทะเบียนด้วย คือ
1. บัตรประจำตัว หรือสำเนาภาพถ่ายบัตรประจำตัวของเจ้าบ้านผู้มอบหมาย ถ้าเป็นสำเนาภาพถ่าย ผู้มอบหมายจะต้องเซ็นรับรองสำเนาด้วย
2. บัตรประจำตัวของผู้แจ้ง
3. สำเนาทะเบียนบ้านของเจ้าบ้าน
4. หนังสือมอบหมายจากเจ้าบ้าน ( ถ้ามี )
 

 การแจ้งตาย

ควรทราบขั้นตอนเกี่ยวกับการแจ้งการตายเพราะฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
หน้าที่ของผู้แจ้งการตาย
1. เมื่อมีคนตายในบ้าน ให้เจ้าบ้านเป็นผู้แจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่มีคนตายภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาตาย ในกรณีไม่มีเจ้าบ้านให้ผู้พบศพแจ้งภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาพบศพ
2. เมื่อมีคนตายนอกบ้าน ให้ผู้ที่ไปกับผู้ตายหรือผู้พบศพเป็นผู้แจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่ตายหรือพบศพหรือท้องที่ที่จะ พึงแจ้งได้ภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาตายหรือพบศพ ในกรณีนี้จะแจ้งต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจก็ได้
สถานที่รับแจ้งการตายและผู้มีหน้าที่รับแจ้งการตาย
1. กรณีมีคนตายนอกเขตเทศบาล ณ ท้องที่ใดให้ผู้มีหน้าที่แจ้งการตายต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้ง คือ กำนันหรือผู้ใหญ่บ้านในท้องที่นั้น หรือปลัดอำเภอหรือผู้ช่วยนายทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอหรือกิ่งอำเภอ นั้น
2. กรณีมีคนตายในเขตเทศบาลใด ผู้มีหน้าที่แจ้งการตายต่อนาย ทะเบียนท้องถิ่น ณ สำนักงานเทศบาล นั้น
3. กรณีมีคนตายในกรุงเทพมหานคร ผู้มีหน้าที่แจ้งการตายต่อนาย ทะเบียนท้องถิ่น ณ สำนักงานเทศบาล นั้น
การแจ้งการตาย
1. แจ้งชื่อตัว ชื่อสกุล และที่อยู่ของผู้ตายตามหลักฐาน สำเนาทะเบียนบ้าน หรือบัตรประจำตัวที่นำไปแสดง ( ถ้ามี )
2. แจ้งวันเดือนปี และสถานที่ตายพร้อมสาเหตุการตาย ถ้ามีหนังสือรับรองการตายจากสถานพยาบาลให้นำไปแสดงด้วย และถ้าทราบชื่อ – สกุล ของบิดา มารดาของผู้ตายให้แจ้งต่อนายทะเบียนด้วย
3. แจ้งการดำเนินการเกี่ยวกับศพของผู้ตายด้วย จะเก็บ ฝัง เผาทำลาย หรือย้ายศพที่ไหน เมื่อไร
4. แจ้งชื่อตัว ชื่อสกุลและที่อยู่ของผู้แจ้งการตายตามหลักฐานสำเนาทะเบียนบ้านหรือบัตรประจำตัวที่นำไปแสดง
วิธีการรับแจ้งการตาย
เมื่อนายทะเบียนได้รับแจ้งการตายจากผู้มีหน้าที่แล้วจะตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารหลักฐานที่นำไปแสดง เมื่อเห็นว่าถูกต้องจะลงรายการต่างๆ ในมรณบัตร และให้ผู้แจ้งลงลายมือชื่อในมรณบัตร พร้อมมอบมรณบัตร (ตอนที่ 1) ให้แก่ผู้แจ้งไว้เป็นหลักฐาน
การแจ้งการตายเกินกำหนดเวลา
การแจ้งตายเกินกำหนดเวลา หมายถึง กรณีมีคนตายแต่ไม่ได้แจ้งการตายภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด กรณีนี้ให้ผู้แจ้งการตายยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่นแห่งท้องที่มีการตายหรือพบศพ
วิธีการรับแจ้งการตายเกินกำหนดเวลา
1. เมื่อนายทะเบียนได้รับคำร้องแล้วจะตรวจสอบคำร้องและเอกสารที่ผู้แจ้งนำไปแสดง แล้วดำเนินการเปรียบเทียบคดีความผิดตามที่กฎหมายกำหนด
2. สอบสวนสาเหตุจากพยานบุคคลเพื่อให้ทราบถึงวันเดือนปีที่ตาย สถานที่ตาย และผู้รู้เห็นการตาย ตลอดจนสาเหตุที่ไม่แจ้งการตายภายในเวลาที่กำหนด
3. รวบรวมหลักฐานและพิจารณา เมื่อเห็นว่าเชื่อถือได้จะสั่งอนุญาตให้รับแจ้งและดำเนินการต่อไป
กรณีมีการตายแต่ยังไม่พบศพ
ให้เจ้าบ้านหรือผู้ที่ไปกับผู้ตายแจ้งต่อนายทะเบียนหรือเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ เพื่อดำเนินการต่อไป
ค่าธรรมเนียม
การแจ้งตาย "ไม่เสียค่าธรรมเนียมแต่อย่างใด"
 

 การแก้ไขรายการในเอกสารการทะเบียนราษฎร

เอกสารการทะเบียนราษฎรที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน
1. ทะเบียนบ้าน และสำเนาทะเบียนบ้าน
2. สูติบัตร และทะเบียนคนเกิด
3. มรณบัตร และทะเบียนคนตาย
4. ใบแจ้งการย้ายที่อยู่
สถานที่รับคำร้องและผู้มีหน้าที่รับคำร้อง
1. ผู้ที่มีภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้าน อยู่นอกเขตเทศบาลให้ยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนอำเภอ ณ ที่ว่าการอำเภอหรือกิ่งอำเภอ
2. ผู้ที่มีภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้าน อยู่ในเขตเทศบาลหรือกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นคำร้องต่อนาย ทะเบียนท้องถิ่น ณ สำนักงานเทศบาล หรือสำนักงานเขต
การขอแก้ไขรายการในเอกสารการทะเบียนราษฎร
เมื่อพบข้อผิดพลาดในเอกสารทะเบียนราษฎรให้ดำเนินการดังนี้
1. ยื่นคำร้องตามแบบที่กำหนดต่อนายทะเบียน โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม “ เอกสารการทะเบียนราษฎรสามารถแก้ไขได้ โดยอยู่บนพื้นฐานของความจริง กรุณาไปพบเจ้าหน้าที่ อย่าแก้ไขด้วยตนเอง ”
2. นำหลักฐานเอกสารที่ทางราชการออกให้ไปแสดง เช่น
- เอกสารการทะเบียนราษฎร
- หนังสือรับรองการเกิดหรือการตายที่สถานพยาบาลออกให้
- สำเนาทะเบียนนักเรียน หรือใบสุทธิ หรือประกาศนียบัตร
- หลักฐานการขึ้นทะเบียนทหาร (ส.ด.9)
- ใบสำคัญเปลี่ยนชื่อตัว หรือชื่อสกุล
- บัตรประจำตัว
- หนังสือเดินทาง
- ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว
  ฯลฯ
3. กรณีที่นายทะเบียนพิจารณาแล้วเห็นว่าพยานเอกสารยังไม่เพียงพอแก่การวินิจฉัย อาจขอให้มีพยานบุคคลไปให้ถ้อยคำเพิ่มเติมได้ ซึ่งจะเป็นใครก็แล้วแต่ผู้ร้องหรือนายทะเบียนจะขอให้ไปให้ถ้อยคำ
วิธีแก้ไข
เมื่อนายทะเบียนได้รับคำร้องและพยานหลักฐานต่างๆ ผู้ร้องนำไปแสดงแล้ว จะดำเนินการดังนี้
1. กรณีที่ผู้ร้องมีเอกสารราชการมาแสดงเพื่อขอให้แก้ไข เป็นอำนาจของนายทะเบียนที่จะพิจารณาแก้ไขได้เมื่อเห็นว่าเชื่อถือได้
2. กรณีที่ผู้ร้องไม่มีเอกสารราชการมาแสดง เป็นอำนาจของนายอำเภอที่จะพิจารณาแก้ไขให้ โดยนายทะเบียนจะเป็นผู้รวบรวมเรื่องและความเห็นเสนอผ่านตามลำดับชั้น
3. กรณีเป็นการแก้ไขเกี่ยวกับรายการสัญชาติ หากเป็น
    3.1 การแก้ไขจากสัญชาติอื่นเป็นสัญชาติไทย เป็นอำนาจของนายอำเภอเป็นผู้พิจารณาแก้ไข
    3.2 การแก้ไขจากสัญชาติไทยเป็นสัญชาติอื่น เป็นอำนาจของนายทะเบียนเป็นผู้พิจารณาแก้ไข
 

 การแจ้งย้ายที่อยู่

เมื่อผู้ใดย้ายถิ่นที่อยู่ใหม่จะต้องมีการแจ้งย้ายให้ถูกต้องตามกฎหมาย หากไม่แจ้งย้ายนอกจากจะเป็นการปฏิบัติที่ผิดกฎหมายซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท แล้วยังทำให้ผู้นั้นเสียสิทธิ์ต่างๆ และรวมถึงการมิได้รับบริการจากรัฐอีกด้วย
หน้าที่ของผู้แจ้งการย้ายที่อยู่
1. เมื่ออยู่ในบ้านย้ายที่อยู่ออกจากบ้าน ให้เจ้าบ้านแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้ง ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ผู้นั้นย้ายออกไปโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม
2. เมื่อมีผู้ย้ายที่อยู่เข้ามาอยู่ในบ้าน ให้เจ้าบ้านแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้ง ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ผู้นั้นย้ายเข้ามาอยู่ในบ้าน ทั้งนี้ให้นำหลักฐานการย้ายออกไปแสดงไปแสดงต่อนายทะเบียนด้วย โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม
3. การแจ้งย้ายปลายทางเป็นกรณีนอกเหนือจาก ข้อ 1 และข้อ 2 ซึ่งผู้ย้ายที่อยู่จะเป็นผู้แจ้งการย้ายออกและย้ายเข้าต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่ไปอยู่ใหม่ ภายใน 15 วัน นับแต่วันย้ายออก โดยนำแสดงต่อนายทะเบียนและเสียค่าธรรมเนียม
4. เมื่อผู้อยู่ในบ้านออกจากบ้านไปอยู่ที่อื่นเกิน 180 วัน และเจ้าบ้านไม่ทราบว่าผู้นั้นไปอยู่ที่ใด เจ้าบ้านต้องแจ้งการย้ายออกโดยไม่ทราบที่อยู่ต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งภายใน 30 วัน นับแต่วันครบกำหนด 180 วัน ซึ่งนายทะเบียนจะเพิ่มชื่อเข้าในทะเบียนบ้านกลางต่อไป
5. ค่าธรรมเนียมการย้าย  (1) ย้ายปลายทางอัตโนมัติด้วยระบบคอมพิวเตอร์ 10 บาท  (2) ย้ายปลายทางที่ไม่ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ 5 บาท
สถานที่รับแจ้งการย้ายที่อยู่และผู้มีหน้าที่รับแจ้ง
1. กรณีเป็นการย้ายที่อยู่นอกเขตเทศบาล ณ ท้องที่ใดให้ผู้มีหน้าที่แจ้งการย้ายที่อยู่ต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้ง คือ ปลัดอำเภอ นั้น
2. กรณีการย้ายที่อยู่ในเขตเทศบาลหรือกรุงเทพมหานคร ให้ผู้มีหน้าที่แจ้งการย้ายที่อยู่ต่อนาย ทะเบียนท้องถิ่น ณ สำนักงานเทศบาล หรือสำนักงานเขตนั้นๆ แล้วแต่กรณี
หลักฐานที่จะต้องนำไปแจ้งเกี่ยวกับการย้ายที่อยู่
    การย้ายออก
1. สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
2. บัตรประจำตัวของเจ้าบ้าน
3. บัตรประจำตัวของผู้ได้รับมอบหมายจากเจ้าบ้าน ( กรณีการมอบหมายให้ทำหน้าที่แทน )
4. หนังสือมอบหมายจากเจ้าบ้าน ( ถ้ามี )
    การย้ายเข้า
1. สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
2. บัตรประจำตัวของเจ้าบ้าน
3. บัตรประจำตัวของผู้ได้รับมอบหมายจากเจ้าบ้าน
4. หนังสือมอบหมายจากเจ้าบ้าน ( ถ้ามี )
5. ใบแจ้งการย้ายที่อยู่ ( ตอนที่ ๑ และตอนที่ ๒ ) กรณีใบแจ้งการย้ายที่อยู่สูญหายหรือชำรุดในสาระสำคัญก่อนนำไปย้ายเข้า ผู้ย้ายเข้าสามารถขอใบแทนได้ที่นายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่ออกใบแจ้งการย้ายที่อยู่โดยยื่นคำร้องพร้อม สำเนาการแจ้งความประกอบเรื่อง หรือนำใบแจ้งย้ายที่อยู่ซึ่งชำรุดไปแสดง
 

 การแจ้งการเกิด

หน้าที่ของผู้แจ้งการเกิด
1. เมื่อมีคนเกิดในบ้านให้เจ้าบ้านหรือบิดา หรือมารดา หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้แจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่เกิดภายใน 15 วันนับแต่วันเกิด
2. เมื่อมีคนเกิดนอกบ้าน ให้บิดา หรือมารดา หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้แจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่เกิดหรือแห่งท้องที่ที่พึงแจ้งได้ภายใน 15 วัน นับแต่วันเกิด หรือในกรณีจำเป็นไม่อาจแจ้งได้ตามกำหนดให้แจ้งภายหลังได้แต่ต้องไม่เกิน 30 วัน ( กรณีเกิดนอกบ้าน )
สถานที่รับแจ้งการเกิดและผู้มีหน้าที่รับแจ้งการเกิด
1. กรณีคนเกิดนอกเขตเทศบาล ณ ท้องที่ใดให้ผู้มีหน้าที่แจ้งการเกิดแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้ง คือ ปลัดอำเภอ หรือผู้ช่วยนายทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือกิ่งอำเภอ นั้น
2. กรณีมีคนเกิดในเขตเทศบาลใด ให้ผู้มีหน้าที่แจ้งการเกิดต่อนาย ทะเบียนท้องถิ่น ณ สำนักงานเทศบาล นั้น
3. กรณีมีคนเกิดในกรุงเทพมหานคร ให้ผู้มีหน้าที่แจ้งการเกิดต่อนาย ทะเบียนท้องถิ่น ณ สำนักงานเขต นั้น
การแจ้งการเกิด
ผู้แจ้งเกิดควรดำเนินการ ดังนี้
1. ให้แจ้งชื่อตัวของเด็กเกิดใหม่พร้อมกับการแจ้งเกิดและแจ้งชื่อสกุลด้วย พร้อมสำเนาทะเบียนบ้านที่จะเพิ่มชื่อเด็ก
2. แจ้งวัน เดือน ปี และสถานที่เกิด ถ้ามีหนังสือรับรองการเกิดจากสถานพยาบาล ให้นำไปแสดงด้วย
3. แจ้งชื่อตัว ชื่อสกุล สัญชาติ และที่อยู่ของบิดาและมารดาของเด็ก
4. แจ้งชื่อตัว ชื่อสกุล และที่อยู่ของผู้แจ้งการเกิดตามหลักฐานสำเนาทะเบียนบ้านหรือบัตรประจำตัวที่นำไปแสดง
5. ทะเบียนสมรส ( ถ้ามี )
การแจ้งการเกิดเกินกำหนดเวลา
การแจ้งเกิดเกินกำหนดเวลา หมายถึง กรณีมีคนเกิดแต่ไม่ได้แจ้งการเกิดภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด กรณีนี้ให้ผู้แจ้งการเกิดยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นแห่งท้องถิ่นที่ที่มีการเกิด
วิธีการรับแจ้งการเกิดเกินกำหนดเวลา
1. เมื่อนายทะเบียนได้รับคำร้องแล้วจะตรวจสอบคำร้องและเอกสารที่ผู้แจ้งนำไปแสดง และดำเนินการเปรียบเทียบคดีความผิดตามที่กฎหมายกำหนด
2. สอบสวนสาเหตุจากพยานบุคคลเพื่อให้ทราบถึงวันเดือนปีเกิด สถานที่เกิด ตลอดจนสาเหตุที่ไม่แจ้งการเกิดภายในเวลาที่กำหนด
    ผู้พบเด็กในกรณีนี้ต้องนำเด็กส่งและแจ้งต่อเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หากผู้มีหน้าที่ไม่แจ้งการเกิดต้องมีความผิดตามกฎหมาย มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
 

 การทำบัตรประชาชน

หลักฐานที่นำไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่
1. สำเนาทะเบียนบ้าน
2. สูติบัตรหรือหลักฐานอื่นที่มีรูปถ่าย ที่ทางราชการออกให้ เช่น ใบสุทธิ หรือ สำเนาทะเบียนนักเรียน หนังสือเดินทาง ฯลฯ เพื่อแสดงว่าเป็นบุคคลเดียวกับ ผู้มีชื่อในทะเบียนบ้าน
3. หากไม่มีหลักฐานตาม (ข้อ 2.) ให้เจ้าบ้านหรือผู้ที่น่าเชื่อถือ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ ไปรับรองด้วย
4. กรณีบิดาและมารดา เป็นบุคคลต่างด้าว ให้นำใบสำคัญประจำตัวบุคคลต่างด้าว ของบิดาและมารดามาแสดงด้วย
ทำบัตรประจำตัวประชาชนครั้งแรก 
ผู้มีสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 15 ปี บริบูรณ์ ต้องทำบัตรภายใน 60 วัน นับแต่วันที่อายุครบ 15 บริบูรณ์ โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม หากพ้นกำหนด จะเสียค่าปรับไม่เกิน 500 บาท
กรณีบัตรเดิมหมดอายุ 
บัตรมีอายุใช้ได้ 6 ปี เมื่อบัตรเดิมหมดอายุ ให้ทำบัตรใหม่ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่บัตรเดิมหมดอายุโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม หากพ้นกำหนดจะเสียค่าปรับไม่เกิน 200 บาท การนับวันบัตรหมดอายุ กรณีขอทำบัตรก่อนบัตรเดิมจะหมดอายุ หากผู้ถือบัตรประสงค์จะขอทำบัตรใหม่ก่อนบัตรเดิมหมดอายุ ก็สามารถทำได้ภายใน 60 วัน โดยให้ถือเอาวันครบรอบวันเกิดเป็นเกณฑ์ ไม่ว่าจะระบุในบัตรไว้แล้วว่าบัตรหมดอายุวันใดก็ตาม
กรณีบัตรหายหรือบัตรถูกทำลาย 
เมื่อบัตรหายหรือบัตรถูกทำลาย ให้แจ้การหายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักทะเบียน ที่จะทำบัตรใหม่ ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่บัตรเดิมหายหรือถูกทำลาย โดยเสียค่าธรรมเนียมตามที่กฎหมายกำหนด หากพ้นกำหนด จะเสียค่าปรับไม่เกิน 200 บาท
กรณีบัตรเดิมชำรุด 
หากบัตรเดิมชำรุด เช่นไฟไหม้บางส่วน หรือเปียกน้ำจนเลอะเลือน ให้เปลี่ยนบัตรภายใน 60 วัน นับวันที่บัตรเดิมชำรุดโดยเสียค่าธรรมเนียมตามที่กฎหมายกำหนด หากพ้นกำหนด จะเสียค่าปรับไม่เกิน 200 บาท
กรณีเปลี่ยนชื่อตัวหรือเปลี่ยนสกุล 
หากเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล หรือเปลี่ยนทั้งชื่อตัว และชื่อสกุล ให้เปลี่ยนบัตรใหม่ภายในกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่แก้ไขชื่อตัว ชื่อสกุลในทะเบียนบ้าน โดยเสียค่าธรรมเนียมตามที่กฎหมายกำหนด หากพ้นกำหนด จะเสียค่าปรับไม่เกิน 200 บาท
บุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องทำบัตร 
ผู้ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องทำบัตรประจำตัวประชาชน เช่น ข้าราชการ พระภิกษุ สามเณร ฯลฯ หากมีความประสงค์จะทำบัตร ก็สามารถทำได้ โดยเสียค่าธรรมเนียมตามที่กฎหมายกำหนด
กรณีพ้นจากสภาพได้รับการยกเว้น 
ผู้ที่ได้รับการยกเว้นตามข้อ 6 เมื่อพ้นสภาพการได้รับการยกเว้นแล้ว ต้องทำบัตร ฯ ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่พ้นสภาพจากการได้รับการยกเว้น โดยไม่เสีย ค่าธรรมเนียม หากพ้นกำหนดจะเสียค่าปรับไม่เกิน 500 บาท
โทษขอการไม่พกบัตรหรือนำบัตรของคนอื่นไปใช้ 
กฎหมายกำหนดให้พกพาบัตรประจำตัวประชาชน ติดตัวอยู่เสมอ หากไม่สามารถแสดงบัตร ฯ เมื่อเจ้าพนักงานขอตรวจบัตร จะต้องถูกปรับไม่เกิน 200 บาท
การเสียค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับบัตร
- กรณีที่ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ได้แก่ การทำบัตรครั้งแรก การทำบัตรกรณีบัตรเดิมหมดอายุ การทำบัตรกรณีพ้นจากสภาพได้รับการยกเว้น และการทำบัตรกรณีได้สัญชาติไทย
- กรณีที่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ได้แก่ บัตรหาย บัตรถูกทำลาย บัตรชำรุด ชื่อสกุล ย้ายที่อยู่ และบุคคลที่ได้รับการยกเว้น แต่ประสงค์จะขอทำบัตร โดยเสียค่าธรรมเนียม 20 บาท
- การเสียค่าธรรมเนียมไม่เกี่ยวกับการเสียค่าปรับ การปรับเป็นผลการจากกระทำความผิดตามที่กฎหมายกำหนดไว้
การขอคัดสำเนารายการเกี่ยวกับบัตร
เอกสารรายการเกี่ยวกับบัตรประจำตัวประชาชน มีการเก็บรักษาเป็นระยะเวลา 12–18 ปี ผู้ที่ประสงค์ จะขอคัดสำเนารายการต่างๆ สามารถยื่นคำร้องขอคัดได้ที่
1. ที่ทำการปกครองจังหวัด ศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ
2. สำนักทะเบียนอำเภอ / กิ่งอำเภอ / เทศบาล / สำนักทะเบียน เขตใน กทม. ที่ให้บริการจัดทำบัตร ทุกแห่งทั่วประเทศ
 
งานทะเบียนราษฎรและบัตรประชาชน เทศบาลนครสมุทรปราการ
อุทยานการเรียนรู้และหอชมเมืองสมุทรปราการ ชั้น 1  โทร. 02-382-6199 ต่อ 213,  308